พระบรมราชโองการ

พระราชบัญญัติ
ว่าด้วยการลงคะแนนเสียงเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
พ.ศ. ๒๕๔๒

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๒
เป็นปีที่ ๕๔ ในรัชกาลปัจจุบัน

           พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
           โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยการลงคะแนนเสียงเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
           จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภาดังต่อไปนี้
           มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัติว่าด้วยการลงคะแนนเสียงเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๔๒"
           มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
           มาตรา ๓ ในพระราชบัญญัตินี้
           "องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น" หมายความว่า กรุงเทพมหานคร องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล เมืองพัทยา องค์การบริหารส่วนตำบล และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นที่มีกฎหมายจัดตั้งขึ้น
           "หน่วยลงคะแนนเสียง" หมายความว่า ท้องถิ่นที่กำหนดให้ทำการลงคะแนนเสียง
           "ที่ลงคะแนนเสียง" หมายความว่า สถานที่ที่กำหนดให้ทำการลงคะแนนเสียง
           "ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง" หมายความว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นในองค์กร

ปกครองส่วนท้องถิ่นที่จะจัดให้มีการลงคะแนนเสียงถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นนั้น
           "ศาลากลางจังหวัด" หมายความรวมถึง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร
           "ที่ว่าการอำเภอ" หมายความรวมถึง ที่ว่าการกิ่งอำเภอและสำนักงานเขต
           "สำนักงานเทศบาล" หมายความรวมถึง ศาลาว่าการเมืองพัทยา
           มาตรา ๔ ในกรณีที่พระราชบัญญัตินี้บัญญัติให้เป็นอำนาจหน้าที่ของผู้ว่าราชการจังหวัดในการดำเนินการเกี่ยวกับการลงคะแนนเสียงถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ถ้าเป็นการดำเนินการในเขตกรุงเทพมหานครให้เป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
           มาตรา ๕ การเข้าชื่อร้องขอต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อดำเนินการให้มีการลงคะแนนเสียงถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นผู้ใดหรือผู้บริหารท้องถิ่นผู้ใดขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น เพราะเหตุที่ไม่สมควรดำรงตำแหน่งต่อไปให้ถือเกณฑ์จำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละแห่งดังนี้
           (๑) ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่เกินหนึ่งแสนคนต้องมีผู้เข้าชื่อไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น
           (๒) ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเกินหนึ่งแสนคนแต่ไม่เกินห้าแสนคนต้องมีผู้เข้าชื่อไม่น้อยกว่าสองหมื่นคนของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น
           (๓) ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเกินกว่าห้าแสนคนแต่ไม่เกินหนึ่งล้านคนต้องมีผู้เข้าชื่อไม่น้อยกว่าสองหมื่นห้าพันคนของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น
           (๔) ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเกินกว่าหนึ่งล้านคนต้องมีผู้เข้าชื่อไม่น้อยกว่าสามหมื่นคนของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น
           การนับจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามวรรคหนึ่ง ให้ถือตามจำนวนในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นครั้งหลังสุดที่ใช้สำหรับการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น แล้วแต่กรณี
           มาตรา ๖ คำร้องขอให้มีการลงคะแนนเสียงถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นตามมาตรา ๕ ต้องมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
           (๑) ชื่อ ที่อยู่ และลายมือชื่อของผู้เข้าชื่อทุกคน พร้อมทั้งสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน บัตรประจำตัวประชาชนที่หมดอายุ หรือบัตรหรือหลักฐานอื่นใดของทางราชการที่มีรูปถ่ายสามารถแสดงตนได้
           (๒) รายละเอียดของข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ที่แสดงให้เห็นว่าสมาชิกสภาท้องถิ่นผู้ใด หรือผู้บริหารท้องถิ่นผู้ใดในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ประสงค์จะให้ลงคะแนนเสียงถอดถอนนั้นมีการปฏิบัติหน้าที่หรือมีความประพฤติเสื่อมเสียอย่างใดจนเป็นเหตุที่ไม่สมควรดำรงตำแหน่งต่อไป
           (๓) รายชื่อผู้แทนของผู้เข้าชื่อที่จะมีอำนาจดำเนินกิจการที่เกี่ยวข้องกับการจัดให้มีการลงคะแนนเสียงถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
           (๔) คำรับรองของผู้แทนของผู้เข้าชื่อตาม (๓) ว่าผู้เข้าชื่อทุกคนเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น และเป็นผู้ร่วมเข้าชื่อด้วยตนเอง
           มาตรา ๗ เมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดได้รับคำร้องตามมาตรา ๕ ให้ดำเนินการจัดส่งคำร้องไปให้สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นผู้ที่ถูกร้องขอให้ลงคะแนนเสียงถอดถอนภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ผู้ว่าราชการจังหวัดได้รับคำร้อง และให้สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นผู้นั้นจัดทำคำชี้แจงข้อเท็จจริงเพื่อแก้ข้อกล่าวหาตามคำร้องยื่นต่อผู้ว่าราชการจังหวัดภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำร้องจากผู้ว่าราชการจังหวัด
           เมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดได้รับคำชี้แจงข้อเท็จจริงเพื่อแก้ข้อกล่าวหาของสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นตามวรรคหนึ่งแล้ว หรือเมื่อครบกำหนดสามสิบวันนับแต่วันที่ได้แจ้งคำร้องให้ทราบตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแจ้งให้คณะกรรมการการเลือกตั้งทราบภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รับคำชี้แจงหรือวันครบกำหนด แล้วแต่กรณี เพื่อดำเนินการจัดให้มีการลงคะแนนเสียงถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นต่อไป พร้อมทั้งจัดส่งคำร้องตามมาตรา ๕ และคำชี้แจงข้อเท็จจริงเพื่อแก้ข้อกล่าวหาถ้าหากมีไปด้วย
           ในการดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ ถ้าคณะกรรมการการเลือกตั้งมอบหมายให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดหรือบุคคลใดเป็นผู้ดำเนินการแทน ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแจ้งตามวรรคสองต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดหรือบุคคลนั้นดำเนินการต่อไป
           มาตรา ๘ ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งจัดให้มีการลงคะแนนเสียงถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น โดยให้ประกาศกำหนดวันลงคะแนนเสียงไม่เกินเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากผู้ว่าราชการจังหวัดตามมาตรา ๗
           ในการดำเนินการจัดให้มีการลงคะแนนเสียงตามวรรคหนึ่ง ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งจัดทำบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงจากบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นและปิดประกาศบัญชีรายชื่อดังกล่าวพร้อมทั้งคำร้องตามมาตรา ๕ คำชี้แจงข้อเท็จจริงเพื่อแก้ข้อกล่าวหาของสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นถ้าหากมี และประกาศกำหนดวันลงคะแนนเสียงไว้ ณ ศาลากลางจังหวัด ที่ทำการองค์การบริหารส่วนจังหวัด ที่ว่าการอำเภอ สำนักงานเทศบาล ที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบล ที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน เขตชุมชนหนาแน่นที่เห็นสมควร และที่ลงคะแนนเสียงหรือบริเวณใกล้เคียงกับที่ลงคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ายี่สิบวันก่อนวันลงคะแนนเสียง ทั้งนี้ เฉพาะในเขตท้องที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น
           ให้นำบทบัญญัติเกี่ยวกับการขอเพิ่มชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งและการถอนชื่อผู้ไม่มีสิทธิเลือกตั้งตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภามาใช้บังคับกับการเพิ่มชื่อผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงและการถอนชื่อผู้ไม่มีสิทธิลงคะแนนเสียงโดยอนุโลม ทั้งนี้ โดยให้ยื่นคำร้องขอเพิ่มชื่อหรือถอนชื่อต่อบุคคลที่คณะกรรมการเลือกตั้งแต่งตั้ง
           มาตรา ๙ ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนดหน่วยลงคะแนนเสียงที่จะพึงมีในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่จะจัดให้มีการลงคะแนนเสียง และกำหนดที่ลงคะแนนเสียงของหน่วยลงคะแนนเสียงนั้น ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงจำนวนของผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงในแต่ละหน่วยลงคะแนนเสียงและความสะดวกในการเดินทางไปใช้สิทธิลงคะแนนเสียงและประกาศให้ผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงทราบไม่น้อยกว่ายี่สิบวันก่อนวันลงคะแนนเสียง
           ในกรณีจำเป็นคณะกรรมการการเลือกตั้งอาจเปลี่ยนแปลงที่ลงคะแนนเสียงตามประกาศในวรรคหนึ่งเป็นสถานที่อื่นตามที่เห็นเหมาะสมก็ได้ โดยต้องประกาศการเปลี่ยนแปลงที่ลงคะแนนเสียงให้ทราบก่อนวันลงคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าห้าวัน เว้นแต่กรณีฉุกเฉินจะประกาศการเปลี่ยนแปลงที่ลงคะแนนเสียงน้อยกว่าระยะเวลาดังกล่าวก็ได้
           มาตรา ๑๐ ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจแต่งตั้งบุคคลหนึ่งหรือหลายคนเพื่อทำหน้าที่อำนวยการหรือกำกับดูแลการลงคะแนนเสียงตามที่คณะกรรมการเลือกตั้งกำหนดได้ตามที่เห็นสมควร
           มาตรา ๑๑ ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งแต่งตั้งคณะกรรมการประจำที่ลงคะแนนเสียงแต่ละแห่งไม่น้อยกว่าห้าคน เพื่อทำหน้าที่ในที่ลงคะแนนเสียงนั้น
           การแต่งตั้งกรรมการประจำที่ลงคะแนนเสียง ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งแต่งตั้งผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงในหน่วยลงคะแนนเสียงนั้นเป็นประธานกรรมการหนึ่งคน และกรรมการอื่นอีกไม่น้อยกว่าสี่คน ถ้าในวันลงคะแนนเสียงกรรมการประจำที่ลงคะแนนเสียงมาปฏิบัติหน้าที่ไม่ถึงห้าคน ให้กรรมการที่เหลืออยู่แต่งตั้งผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงในหน่วยลงคะแนนเสียงนั้นเป็นกรรมการประจำที่ลงคะแนนเสียงจนครบห้าคน
           ในกรณีที่ประธานกรรมการไม่มาปฏิบัติหน้าที่หรือไม่อยู่ในที่ลงคะแนนเสียงหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้กรรมการเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานกรรมการแทนหรือปฏิบัติหน้าที่ไปพลางก่อนจนกว่าประธานกรรมการจะสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ แล้วแต่กรณี
           มาตรา ๑๒ ให้กรรมการประจำที่ลงคะแนนเสียงมีหน้าที่ดำเนินการและรักษาความเรียบร้อยในการลงคะแนนเสียงและการนับคะแนนเสียงในที่ลงคะแนนเสียง และมีหน้าที่อื่นตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้หรือตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด
           ในกรณีที่ผู้ใดขัดขวางการลงคะแนนเสียง ให้กรรมการประจำที่ลงคะแนนเสียง มีอำนาจสั่งให้ผู้นั้นออกไปจากที่ลงคะแนนเสียงนั้น แต่ต้องไม่ขัดขวางต่อการที่ผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงจะใช้สิทธิลงคะแนนเสียง
           มาตรา ๑๓ การลงคะแนนเสียงให้ใช้วิธีลงคะแนนโดยตรงและลับ
           การออกเสียงลงคะแนนให้ทำเครื่องหมายลงในบัตรลงคะแนนเสียงในช่องที่ "เห็นด้วย" หรือ "ไม่เห็นด้วย" กับการให้ถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นผู้ที่ถูกร้องขอให้ลงคะแนนเสียงถอดถอน
           ลักษณะและขนาดของบัตรลงคะแนนเสียงและหีบบัตรลงคะแนนเสียงให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด
           มาตรา ๑๔ ในวันลงคะแนนเสียงให้เปิดการลงคะแนนเสียงตั้งแต่เวลา ๐๘.๐๐ นาฬิกา ถึงเวลา ๑๕.๐๐ นาฬิกา
           มาตรา ๑๕ ผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงซึ่งมีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงในที่ลงคะแนนเสียงใด ให้ลงคะแนนเสียง ณ ที่ลงคะแนนเสียงนั้น
           ให้ผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียง ลงคะแนนเสียงในที่ลงคะแนนเสียงที่ตนมีสิทธิได้เพียงแห่งเดียว
           มาตรา ๑๖ ก่อนเริ่มเปิดให้มีการลงคะแนนเสียงให้คณะกรรมการประจำที่ลงคะแนนเสียงนับจำนวนบัตรลงคะแนนเสียงทั้งหมดของหน่วยลงคะแนนเสียงนั้น และปิดประกาศจำนวนบัตรทั้งหมดในที่ลงคะแนนเสียงไว้ในที่เปิดเผย และเมื่อถึงเวลาเปิดการลงคะแนนเสียงให้คณะกรรมการประจำที่ลงคะแนนเสียงเปิดหีบบัตรลงคะแนนเสียงในที่เปิดเผยแสดงให้ผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงซึ่งอยู่ ณ ที่ลงคะแนนเสียงนั้นเห็นว่าเป็นหีบเปล่า แล้วปิดหีบบัตรลงคะแนนเสียงและให้ทำการบันทึกการดำเนินการดังกล่าว โดยให้ผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองคน ซึ่งอยู่ในที่ลงคะแนนเสียงในขณะนั้นลงลายมือชื่อในบันทึกนั้นด้วย เว้นแต่ไม่มีผู้ลงคะแนนเสียงอยู่ในขณะนั้น
           มาตรา ๑๗ ในระหว่างเวลาเปิดการลงคะแนนเสียงให้ผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงที่ประสงค์จะลงคะแนนเสียงไปแสดงตนต่อกรรมการประจำที่ลงคะแนนเสียง โดยแสดงบัตรประจำตัวประชาชน บัตรประจำตัวประชาชนที่หมดอายุ หรือบัตรหรือหลักฐานอื่นใดของทางราชการที่มีรูปถ่ายสามารถแสดงตนได้
           เมื่อคณะกรรมการประจำที่ลงคะแนนเสียงตรวจสอบรายชื่อผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงแล้วให้อ่านชื่อและที่อยู่ของผู้นั้นดัง ๆ ถ้าไม่มีผู้ใดทักท้วงให้หมายเหตุไว้ในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงโดยให้จดหมายเลขบัตรและสถานที่ออกบัตร และให้ผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงลงลายมือชื่อหรือพิมพ์ลายนิ้วมือในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงเป็นหลักฐานตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนดแล้วให้กรรมการประจำที่ลงคะแนนเสียงมอบบัตรลงคะแนนเสียงให้แก่ผู้นั้นเพื่อไปลงคะแนนเสียง
           ในกรณีที่มีผู้ทักท้วงหรือกรรมการประจำที่ลงคะแนนเสียงสงสัยว่าผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงซึ่งมาแสดงตนนั้นไม่ใช่เป็นผู้มีชื่อในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียง ให้คณะกรรมการประจำที่ลงคะแนนเสียงมีอำนาจสอบสวนและวินิจฉัยชี้ขาดว่าผู้ถูกทักท้วงหรือผู้ถูกสงสัยเป็นผู้ที่มีชื่อในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงหรือไม่ และในกรณีที่คณะกรรมการประจำที่ลงคะแนนเสียงวินิจฉัยว่าผู้ถูกทักท้วงหรือผู้ถูกสงสัยไม่ใช่เป็นผู้มีชื่อในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียง ให้คณะกรรมการประจำที่ลงคะแนนเสียงทำบันทึกคำวินิจฉัยและลงลายมือชื่อไว้ด้วย และให้ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการประจำที่ลงคะแนนเสียง
           มาตรา ๑๘ ในกรณีที่การลงคะแนนเสียงในหน่วยลงคะแนนเสียงใดไม่สามารถกระทำได้เนื่องจากเกิดจราจล อุทกภัย หรือเหตุสุดวิสัยอย่างอื่น ถ้าเหตุดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนวันลงคะแนนเสียง ให้คณะกรรมการประจำที่ลงคะแนนเสียงกำหนดที่ลงคะแนนเสียงใหม่ที่ผู้มาใช้สิทธิลงคะแนนเสียงสามารถไปลงคะแนนเสียงได้โดยสะดวก แต่ถ้าไม่อาจกำหนดที่ลงคะแนนเสียงใหม่ได้ให้ประกาศงดลงคะแนนในหน่วยลงคะแนนเสียงนั้น แล้วรายงานต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งโดยด่วน
           ในกรณีที่เหตุตามวรรคหนึ่งเกิดขึ้นในวันที่ลงคะแนนเสียง ให้คณะกรรมการประจำที่ลงคะแนนเสียงประกาศงดลงคะแนนในหน่วยลงคะแนนเสียงนั้น แล้วรายงานต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งโดยด่วน
           ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนดวันลงคะแนนเสียงใหม่ในหน่วยลงคะแนนเสียงนั้น ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับทราบว่าเหตุที่ทำให้ไม่อาจลงคะแนนได้นั้นสงบลงแล้ว และต้องประกาศก่อนวันลงคะแนนเป็นการล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน
           มาตรา ๑๙ เมื่อถึงเวลาปิดการลงคะแนนเสียงให้คณะกรรมการประจำที่ลงคะแนนเสียงประกาศปิดการลงคะแนนเสียงและงดจ่ายบัตรลงคะแนนเสียง และให้ทำเครื่องหมายในบัตรที่เหลืออยู่ให้เป็นบัตรที่ใช้ลงคะแนนเสียงไม่ได้ตามวิธีการที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด และจัดทำรายงานเกี่ยวกับจำนวนบัตรลงคะแนนเสียงทั้งหมด จำนวนผู้มาแสดงตนและบัตรลงคะแนนเสียงและจำนวนบัตรที่เหลือโดยให้กรรมการประจำที่ลงคะแนนเสียงที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในขณะนั้นทุกคนลงลายมือชื่อไว้และประกาศให้ผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงซึ่งอยู่ที่นั้นทราบ
           มาตรา ๒๐ เมื่อปิดการลงคะแนนเสียงให้คณะกรรมการประจำที่ลงคะแนนเสียงแต่ละแห่งนับคะแนน ณ ที่ลงคะแนนเสียงนั้นโดยเปิดเผยจนแล้วเสร็จ
           เมื่อนับคะแนนเสร็จแล้ว ให้คณะกรรมการประจำที่ลงคะแนนเสียงนำบัตรลงคะแนนเสียงของผู้มาใช้สิทธิทั้งหมดใส่ไว้ในหีบบัตรลงคะแนนเสียงพร้อมทั้งรายงานผลการนับคะแนน แล้วปิดหีบบัตรจัดส่งไปให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง
           วิธีการนับคะแนนและการจัดส่งหีบบัตรให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด
           มาตรา ๒๑ บัตรลงคะแนนเสียงดังต่อไปนี้ ให้ถือว่าเป็นบัตรเสีย
           (๑) บัตรปลอม
           (๒) บัตรที่มิได้ทำเครื่องหมายลงคะแนน
           (๓) บัตรที่ทำเครื่องหมายจนไม่อาจทราบได้ว่าลงคะแนนเสียงในทางใด
           (๔) บัตรที่มีลักษณะตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนดว่าเป็นบัตรเสีย
           ให้คณะกรรมการประจำที่ลงคะแนนเสียงสลักหลังในบัตรที่มีลักษณะตามวรรคหนึ่งว่า "เสีย" พร้อมทั้งระบุเหตุผลว่าเป็นบัตรเสียตามอนุมาตราใด แล้วลงลายมือชื่อกำกับไว้ไม่น้อยกว่าสองคน และห้ามมิให้นับบัตรเสียเป็นคะแนน
           มาตรา ๒๒ เมื่อได้ผลการนับคะแนนจากที่ลงคะแนนเสียงทุกแห่งแล้ว ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศผลการลงคะแนนเสียงและจำนวนผู้มาใช้สิทธิลงคะแนนเสียง
           มาตรา ๒๓ การลงคะแนนเสียงเพื่อให้สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นพ้นจากตำแหน่งหากมีผู้มาใช้สิทธิลงคะแนนเสียงไม่ถึงกึ่งหนึ่งของจำนวนผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงทั้งหมดในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น ให้การเข้าชื่อถอดถอนบุคคลนั้นเป็นอันตกไป และจะมีการร้องขอให้มีการลงคะแนนเสียงถอดถอนบุคคลดังกล่าวโดยอาศัยเหตุเดียวกันอีกมิได้
           ในกรณีมีผู้มาใช้สิทธิลงคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงทั้งหมดในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น และมีคะแนนเสียงจำนวนไม่น้อยกว่าสามในสี่ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่มาลงคะแนนเสียง เห็นว่าสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นผู้นั้นไม่สมควรดำรงตำแหน่งต่อไป ให้บุคคลนั้นพ้นจากตำแหน่งนับแต่วันลงคะแนนเสียง
           มาตรา ๒๔ เมื่อมีการประกาศผลการลงคะแนนเสียงแล้ว ถ้าผู้มีสิทธิเลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นเห็นว่าการลงคะแนนเสียงเป็นไปโดยไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้ผู้นั้นมีสิทธิยื่นคำร้องคัดค้านการลงคะแนนเสียงต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งภายในสามสิบวันนับแต่วันที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศผลการลงคะแนนเสียง
           เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งได้รับคำร้องแล้วให้ดำเนินการพิจารณาโดยเร็ว ถ้าเห็นว่าการลงคะแนนเสียงนั้นเป็นไปโดยไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายให้จัดให้มีการลงคะแนนเสียงใหม่ เว้นแต่การลงคะแนนเสียงใหม่จะไม่ทำให้ผลการลงคะแนนเสียงเปลี่ยนแปลงไป ให้มีคำสั่งยกคำร้องคัดค้านนั้นเสีย
           วิธีพิจารณาการคัดค้านการลงคะแนนเสียงให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
           มาตรา ๒๕ ผู้บังคับบัญชาหรือนายจ้างผู้ใดขัดขวางหรือหน่วงเหนี่ยวหรือไม่ให้ความสะดวกพอสมควรต่อการไปใช้สิทธิลงคะแนนเสียงของผู้ใต้บังคับบัญชาหรือลูกจ้าง แล้วแต่กรณี ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
           มาตรา ๒๖ ผู้ใดกระทำการในระหว่างระยะเวลาการจัดให้มีการลงคะแนนเสียงในลักษณะดังต่อไปนี้
           (๑) ลงคะแนนเสียงหรือพยายามลงคะแนนเสียงโดยมิใช่เป็นผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียง
           (๒) ใช้บัตรอื่นที่มิใช่บัตรลงคะแนนเสียงมาลงคะแนนเสียง
           (๓) นำบัตรลงคะแนนเสียงออกไปจากที่ลงคะแนนเสียง
           (๔) ทำเครื่องหมายเพื่อเป็นที่สังเกตโดยวิธีใด ไว้ที่บัตรลงคะแนนเสียง
           (๕) จงใจกระทำการด้วยประการใด ๆ ให้บัตรลงคะแนนเสียงชำรุด หรือเสียหาย หรือให้เป็นบัตรเสีย หรือกระทำด้วยประการใด ๆ แก่บัตรเสียให้เป็นบัตรที่ใช้ได้
           (๖) นำบัตรลงคะแนนเสียงใส่ในหีบบัตรลงคะแนนเสียงโดยไม่มีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมายหรือกระทำการใดในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงเพื่อแสดงว่ามีผู้มาแสดงตนเพื่อลงคะแนนเสียงโดยผิดไปจากความจริง หรือกระทำการใดอันเป็นเหตุให้มีบัตรลงคะแนนเสียงเพิ่มขึ้นจากความจริง
           (๗) กระทำการโดยไม่มีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมาย เพื่อมิให้ผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงสามารถใช้สิทธิได้ หรือขัดขวางหรือหน่วงเหนี่ยวมิให้ผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงไป ณ ที่ลงคะแนนเสียงหรือเข้าไป ณ ที่ลงคะแนนเสียง หรือมิให้ไปถึง ณ ที่ดังกล่าว ภายในกำหนดเวลาที่จะลงคะแนนเสียง
           (๘) ให้ เสนอให้ หรือสัญญาว่าจะให้ หรือจัดเตรียมเพื่อจะให้ทรัพย์สินหรือผลประโยชน์อื่นอันอาจคำนวณเป็นเงินได้แก่ผู้ใด เพื่อจะจูงใจให้ผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงนั้นลงคะแนนเสียงอย่างใดอย่างหนึ่งหรืองดลงคะแนนเสียง
           (๙) เรียกทรัพย์สินหรือผลประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นเพื่อจะลงคะแนนเสียง หรืองดคะแนนเสียง
           (๑๐) ก่อความวุ่นวายขึ้นในที่ลงคะแนนเสียง หรือกระทำการใดอันเป็นการรบกวนหรือเป็นอุปสรรคแก่การลงคะแนนเสียง หรือฝ่าฝืนคำสั่งของคณะกรรมการประจำที่ลงคะแนนเสียงตามมาตรา ๑๒ วรรคสอง
           (๑๑) เปิด ทำลาย ทำให้เสียหาย ทำให้เปลี่ยนสภาพ ทำให้สูญหาย ทำให้ไร้ประโยชน์ หรือนำไปซึ่งหีบบัตรลงคะแนนเสียงหรือบัตรลงคะแนนเสียง เว้นแต่เป็นการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมาย
           ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
           มาตรา ๒๗ กรรมการประจำที่ลงคะแนนเสียงผู้ใดจงใจนับบัตรลงคะแนนเสียงหรือคะแนนในการลงคะแนนเสียงให้ผิดไปจากความจริง หรือรวมคะแนนให้ผิดไป หรือกระทำด้วยประการใด ๆ โดยมิได้มีอำนาจกระทำโดยชอบด้วยกฎหมาย ให้บัตรลงคะแนนเสียงชำรุดหรือเสียหาย หรือให้เป็นบัตรเสีย หรือกระทำการด้วยประการใด ๆ แก่บัตรเสียเพื่อให้เป็นบัตรที่ใช้ได้ หรืออ่านบัตรลงคะแนนเสียงให้ผิดไปจากความจริง หรือทำรายงานการลงคะแนนเสียงไม่ตรงความเป็นจริง ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงสองแสนบาท
           มาตรา ๒๘ ในระหว่างที่คณะกรรมการการเลือกตั้งยังมิได้ควบคุมและดำเนินการจัดหรือจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใดตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น ให้อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้งในการดำเนินการจัดให้มีการลงคะแนนเสียงถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นตามพระราชบัญญัตินี้เป็นอำนาจหน้าที่ของผู้ว่าราชการจังหวัดหรือเป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยสำหรับการดำเนินการในกรุงเทพมหานคร
           มาตรา ๒๙ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
ชวน หลีกภัย
นายกรัฐมนตรี

(ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๖ ตอนที่ ๑๐๔ ก หน้า ๑๒ วันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๔๒)

             หมายเหตุ
             เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา ๒๘๖ ของรัฐธรรมนูญแห่งราช อาณาจักรไทยบัญญัติให้ราษฎรผู้มีสิทธิเลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใดมีจำนวนไม่น้อยกว่าสามในสี่ ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีสิทธิลงคะแนนเสียงว่าสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นผู้ใดขององค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นนั้นไม่สมควรดำรงตำแหน่งต่อไป เพื่อให้สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นนั้นพ้นจาก ตำแหน่งได้ โดยให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัติ