พระราชบัญญัติ
พัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
พ.ศ. ๒๕๒๑
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๒๑
เป็นปีที่ ๓๓ ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยสภาพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติเสียใหม่ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ดังต่อไปนี้
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า พระราชบัญญัติพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๒๑
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๓ ให้ยกเลิก
(๑) พระราชบัญญัติสภาพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๒
(๒) พระราชบัญญัติสภาพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๐๓
(๓) พระราชบัญญัติสภาพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๐๙
บรรดาบทกฎหมาย กฎหรือข้อบังคับอื่นในส่วนที่มีบัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัตินี้ หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้แทน
มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัตินี้
การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม หมายความว่า การขยายกำลังและเพิ่มผลการผลิตของชาติทุกระดับทั่วทุกท้องถิ่น การแจกแจงรายได้อย่างเป็นธรรม การรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ การทำให้ดีขึ้นโดยทั่วถึงและทัดเทียมกันซึ่งภาวะการศึกษา อนามัย ที่อยู่อาศัย โภชนาการและสวัสดิการอื่นของประชาชน ตลอดจนกิจการที่เกี่ยวเนื่องกับการนั้น
โครงการพัฒนา หมายความว่า โครงการลงทุนเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจหรือสังคมที่มีวัตถุประสงค์และเป้าหมาย ตลอดจนระยะเวลาการดำเนินงานโดยแน่ชัด ซึ่งจะกระทำโดยส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจหน่วยหนึ่งหน่วยใด อันมิใช่เป็นการบริหารงานตามปกติของส่วนราชการหรือหน่วยงานนั้น ๆ
แผนงาน หมายความว่า ระบบการประสานโครงการพัฒนาที่เกี่ยวข้องกันตั้งแต่สองโครงการขึ้นไป ให้มีขั้นตอนการดำเนินงานที่สอดคล้องสัมพันธ์กันในอันที่จะบรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่ต้องการ
แผน หมายความว่า รายการเกี่ยวกับการประสานโครงการพัฒนาและแผนงานต่าง ๆ ที่คัดเลือกมาแล้วของประเทศหรือของภาคหรือของกิจการบางสาขาบางประเภทในท้องถิ่นหนึ่งท้องถิ่นใด เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่ต้องการ และให้สอดคล้องกับความสามารถทางด้านกำลังเงินและกำลังทรัพยากรอื่น ๆ
รัฐวิสาหกิจ หมายความว่า
(๑) องค์การของรัฐบาลตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาลหรือกิจการของรัฐตามกฎหมายที่จัดตั้งกิจการนั้น และหมายความรวมถึงหน่วยงานธุรกิจที่รัฐเป็นเจ้าของ
(๒) บริษัทจำกัดหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเป็นกระทรวง ทบวง หรือกรม และหรือรัฐวิสาหกิจตาม (๑) มีทุนรวมอยู่ด้วยเกินกว่าร้อยละห้าสิบ หรือ
(๓) บริษัทจำกัดหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเป็นกระทรวง ทบวง หรือกรม และหรือรัฐวิสาหกิจตาม (๑) และหรือ (๒) มีทุนรวมอยู่ด้วยเกินกว่าร้อยละห้าสิบ
มาตรา ๕ ให้มีคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติประกอบด้วยประธานกรรมการคนหนึ่งและกรรมการอื่นที่มีความรู้ความจัดเจนหรือมีประสบการณ์ในทางเศรษฐกิจและสังคมอีกไม่เกินเก้าคนซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง และให้เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เลขาธิการ ก.พ. ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง
ให้เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติทำหน้าที่เลขานุการคณะกรรมการนี้ด้วย
มาตรา ๖ คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มีหน้าที่ดังต่อไปนี้
(๑) เสนอแนะและให้ความเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมต่อคณะรัฐมนตรี
(๒) พิจารณาแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติกับข้อเสนออื่น ๆ ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แล้วทำความเห็นเสนอต่อคณะรัฐมนตรี
(๓) เสนอความเห็นต่อนายกรัฐมนตรีในกิจการเกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่นายกรัฐมนตรีขอให้พิจารณา
(๔) จัดให้มีการประสานงานระหว่างสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติกับส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้อง ทั้งในด้านการจัดทำแผนงานและโครงการพัฒนา และในด้านการปฏิบัติงานตามแผน
มาตรา ๗ ให้กรรมการซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งอยู่ในตำแหน่งคราวละสี่ปีกรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งอาจได้รับแต่งตั้งใหม่ได้
มาตรา ๘ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา ๗ กรรมการซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ
(๑) ตาย
(๒) ลาออก
(๓) เป็นบุคคลล้มละลาย
(๔) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
(๕) ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ
(๖) คณะรัฐมนตรีให้ออก
ในกรณีที่กรรมการพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ คณะรัฐมนตรีอาจแต่งตั้งผู้อื่นเป็นกรรมการแทนได้ และให้ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งแทนอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการซึ่งตนแทน
ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งกรรมการเพิ่มขึ้นในระหว่างที่กรรมการซึ่งแต่งตั้งไว้แล้วยังมีวาระอยู่ในตำแหน่ง ให้ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการเพิ่มขึ้นอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการที่ได้รับแต่งตั้งไว้แล้ว
มาตรา ๙ ในการประชุมของคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ถ้าประธานกรรมการไม่มาประชุมหรือไม่อยู่ในที่ประชุม ให้กรรมการที่มาประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม
มาตรา ๑๐ การประชุมคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติทุกคราวต้องมีกรรมการมาประชุมไม่ต่ำกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดจึงจะเป็นองค์ประชุม
มาตรา ๑๑ การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุม ให้ถือเสียงข้างมาก
กรรมการคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด
มาตรา ๑๒ ให้มีสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มีหน้าที่ดังต่อไปนี้
(๑) สำรวจ ศึกษา และวิเคราะห์ภาวะเศรษฐกิจและสังคม เพื่อเสนอแนะจุดหมายและนโยบายแห่งการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
(๒) พิจารณาแผนงานและโครงการพัฒนาของกระทรวง ทบวง กรมหรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเป็นกระทรวง ทบวง หรือกรม และของรัฐวิสาหกิจใดร่วมกับกระทรวง ทบวง กรม หรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเป็นกระทรวง ทบวง หรือกรม และรัฐวิสาหกิจนั้น กับจัดประสานแผนงานและโครงการพัฒนาเหล่านั้น เพื่อวางแผนส่วนรวมสำหรับช่วงระยะเวลาหนึ่งตามจุดหมายแห่งการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ตามกำลังทรัพยากรที่มีอยู่ และตามลำดับความสำคัญก่อนหลังในการใช้ทรัพยากรนั้น
(๓) ศึกษาในเรื่องเกี่ยวกับกำลังเงิน กำลังคน และทรัพยากรอื่นที่มีอยู่และที่อาจหามาได้ และวางแผนการใช้และการจัดหาทรัพยากรดังกล่าวเพื่อประโยชน์ของรัฐ
(๔) จัดทำข้อเสนอ โดยหารือกับกระทรวง ทบวง กรม หรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเป็นกระทรวง ทบวง หรือกรมที่มีหน้าที่เกี่ยวกับงบประมาณแผ่นดินในเรื่องที่เกี่ยวกับรายจ่ายประจำปีของกระทรวง ทบวง กรม หรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเป็นกระทรวง ทบวง หรือกรม และรัฐวิสาหกิจ สำหรับสินทรัพย์ถาวรหลักที่เพิ่มขึ้นเพื่อใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งจำนวนเงินที่ใช้จ่ายเพื่อการนี้ ไม่ว่าจ่ายจากงบประมาณแผ่นดิน เงินกู้ยืม เงินกำไรที่ได้สะสมไว้หรือเงินอื่นใดก็ตาม
(๕) ศึกษาและวิเคราะห์รายจ่ายที่จ่ายจริงสำหรับการสร้างและการบำรุงรักษาสินทรัพย์ถาวรหลักที่ใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมเพื่อให้คำแนะนำเกี่ยวกับการแก้ไขรายจ่ายเหล่านั้นเท่าที่จำเป็น ให้เกิดประสิทธิภาพในการสร้างและการบำรุงรักษาสินทรัพย์ถาวรหลักนั้น ๆ
(๖) ศึกษาและวิเคราะห์รายจ่ายที่จ่ายจริงสำหรับการจัดบริการทางเศรษฐกิจและสังคม เพื่อให้คำแนะนำเกี่ยวกับการแก้ไขรายจ่ายเหล่านั้นเท่าที่จำเป็น
(๗) พิจารณาให้คำแนะนำและกำหนดหลักการให้กระทรวง ทบวง กรม หรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเป็นกระทรวง ทบวง หรือกรม และรัฐวิสาหกิจเพื่อจัดทำแผนงานและโครงการพัฒนาที่จะขอความช่วยเหลือจากต่างประเทศในทางวิชาการ การเงิน การกู้ยืม และการดำเนินงาน เพื่อให้เป็นไปตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
(๘) ติดตามและประเมินผลเกี่ยวกับผลงานตามโครงการพัฒนาของกระทรวง ทบวง กรม หรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเป็นกระทรวง ทบวง หรือกรม และรัฐวิสาหกิจ และให้คำแนะนำเกี่ยวกับการเร่งรัด ปรับปรุง หรือเลิกล้มโครงการพัฒนาอันหนึ่งอันใด เมื่อเห็นสมควร
(๙) ศึกษาและวิเคราะห์ปัญหาและภาวะเศรษฐกิจและสังคมของประเทศเพื่อเสนอนโยบายและมาตรการในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจและสังคมระยะสั้น ในอันที่จะส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
(๑๐) ศึกษาและวิเคราะห์ปัญหาและภาวะเศรษฐกิจและสังคมของต่างประเทศที่จะมีผลกระทบกระเทือนต่อภาวะเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ พร้อมทั้งให้ข้อเสนอและคำแนะนำต่าง ๆ
(๑๑) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
ข้อเสนอ คำแนะนำ และความเห็นเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ตามความในมาตรานี้ ให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอต่อคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อทำความเห็นเสนอคณะรัฐมนตรี
มาตรา ๑๓ ให้กระทรวง ทบวง กรม หรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเป็นกระทรวง ทบวง หรือกรม และรัฐวิสาหกิจเสนอโครงการพัฒนาหรือแผนงานต่อคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อพิจารณาให้ความเห็นประกอบการพิจารณากำหนดงบประมาณรายจ่ายในร่างพระราชบัญญัติงบประมาณประจำปีงบประมาณ หรือร่างพระราชบัญญัติเพิ่มเติมงบประมาณประจำปีงบประมาณ
มาตรา ๑๔ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมีอำนาจเรียกให้กระทรวง ทบวง กรม หรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเป็นกระทรวง ทบวง หรือกรม และรัฐวิสาหกิจปฏิบัติการดังต่อไปนี้
(๑) เสนอแผนงานและโครงการพัฒนา ตลอดจนรายละเอียดทางวิชาการและการเงินกับสถิติและรายการต่าง ๆ ที่จำเป็นแก่การศึกษาภาวะเศรษฐกิจและสังคมของประเทศรวมทั้งเสนอแผนงานและโครงการพัฒนาที่ขอความช่วยเหลือจากต่างประเทศ และรายการต่าง ๆ ที่จำเป็นแก่การศึกษาภาวะเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
(๒) เสนอข้อเท็จจริงที่จำเป็นเพื่อพิจารณาผลงานของโครงการพัฒนาที่กำลังดำเนินการอยู่
มาตรา ๑๕ ให้เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มีหน้าที่ควบคุมดูแลโดยทั่วไปซึ่งราชการของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
มาตรา ๑๖ คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหรือสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติอาจเชิญบุคคลหนึ่งบุคคลใดมาให้ข้อเท็จจริง คำอธิบาย ความเห็น หรือคำแนะนำได้เมื่อเห็นสมควร
มาตรา ๑๗ คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติอาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ เพื่อพิจารณาหรือปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมอบหมายได้
การประชุมคณะอนุกรรมการตามวรรคหนึ่ง ให้นำมาตรา ๙ มาตรา ๑๐ และมาตรา ๑๑ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา ๑๘ ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์
นายกรัฐมนตรี
หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้คือ โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยสภาพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ เพื่อให้เหมาะสมกับการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในสถานการณ์ปัจจุบัน จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัติฉบับนี้ขึ้น
|