พระบรมราชโองการ

พระราชบัญญัติ
เศรษฐกิจการเกษตร
พ.ศ. ๒๕๒๒

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒๒
เป็นปีที่ ๓๔ ในรัชกาลปัจจุบัน

             พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศว่า
             โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยเศรษฐกิจการเกษตร
             จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำหน้าที่รัฐสภา ดังต่อไปนี้
             มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติเศรษฐกิจการเกษตร พ.ศ. ๒๕๒๒”
             มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
             มาตรา ๓ ในพระราชบัญญัตินี้
             “เศรษฐกิจการเกษตร” หมายความว่า การจำแนก การพรรณา และการจัดลำดับความสำคัญของปัญหาทางเศรษฐกิจในส่วนที่เกี่ยวกับการเกษตร และการดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าว
             “การพัฒนาการเกษตร” หมายความว่า การขยายกำลังและเพิ่มผลการผลิตทางการเกษตร การทำให้ดีขึ้นซึ่งภาวะการลงทุน การผลิต การตลาด ราคาสินค้าเกษตรกรรม รายได้ของเกษตรกร โภชนาการและสวัสดิการอื่นของเกษตรกร ตลอดจนกิจการที่เกี่ยวเนื่องกับการนั้น
             “เขตเกษตรเศรษฐกิจ” หมายความว่า เขตการผลิตทางการเกษตรซึ่งรวมทั้งการเลี้ยงสัตว์และการปลูกป่า ที่กำหนดขึ้นให้เหมาะสมกับภาวะตลาดและเศรษฐกิจการเกษตรของประเทศ โดยคำนึงถึงสภาพที่คล้ายคลึงกันของปัจจัยหลัก เช่น ดินฟ้าอากาศ แหล่งน้ำ พืชที่ปลูก สัตว์ที่เลี้ยง ประเภทของเกษตรกรรมและรายได้หลักของเกษตรกร
             “นโยบายการเกษตร” หมายความว่า แนวทางพัฒนาการเกษตรที่มีวัตถุประสงค์และเป้าหมายตลอดจนระยะเวลาการดำเนินงานโดยแน่ชัด
             “คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์
             “รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
             มาตรา ๔ ให้มีคณะกรรมการนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ ประกอบด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นรองประธานกรรมการ และปลัดกระทรวงพาณิชย์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เลขาธิการสถิติแห่งชาติ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์หนึ่งคน อธิบดีกรมต่างๆ ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเป็นกรรมการและกรรมการอื่นอีกไม่เกินแปดคนซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิสี่คนและผู้แทนเกษตรกรและสหกรณ์การเกษตรสี่คน
             ให้เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเป็นกรรมการและเลขานุการ
             มาตรา ๕ คณะกรรมการมีอำนาจและหน้าที่ดังต่อไปนี้
             (๑) พิจารณากำหนดนโยบายการเกษตรและแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
             (๒) พิจารณากำหนดเขตเกษตรเศรษฐกิจ
             (๓) ติดตามและเร่งรัดการปฏิบัติงานตามแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
             (๔) พิจารณาแก้ไขปัญหาและอุปสรรคตลอดจนข้อขัดข้องที่ทำให้นโยบายการเกษตรและการพัฒนาการเกษตรไม่อาจบรรลุเป้าหมาย
             (๕) เสนอแนะและให้ความเห็นต่อคณะรัฐมนตรี ในเรื่องนโยบายและมาตรการในการวางแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์
             (๖) พิจารณาและเสนอความเห็นเกี่ยวกับการปรับปรุงและแก้ไขภาวะเศรษฐกิจการเกษตรของประเทศต่อคณะรัฐมนตรี
             (๗) พิจารณาเรื่องอื่นใดที่เกี่ยวกับการเกษตรหรือสหกรณ์ ตามที่ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรี
             ในการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวข้างต้น คณะกรรมการอาจมอบให้สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเป็นผู้ปฏิบัติการหรือเตรียมข้อเสนอต่อคณะกรรมการเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไปได้
             มาตรา ๖ ให้กรรมการซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง อยู่ในตำแหน่งคราวละสามปี กรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งอาจได้รับแต่งตั้งใหม่ได้
             มาตรา ๗ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา ๖ กรรมการซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ
             (๑) ตาย
             (๒) ลาออก
             (๓) เป็นบุคคลล้มละลาย
             (๔) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
             (๕) ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดหรือโดยคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ
             (๖) คณะรัฐมนตรีให้ออก
             ในกรณีที่กรรมการพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ คณะรัฐมนตรีอาจแต่งตั้งผู้อื่นเป็นกรรมการแทนได้ และให้ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งแทนอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการซึ่งตนแทน
             ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งกรรมการเพิ่มขึ้นในระหว่างที่กรรมการซึ่งแต่งตั้งไว้แล้วยังมีวาระอยู่ในตำแหน่ง ให้ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการเพิ่มขึ้นอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการที่ได้รับแต่งตั้งไว้แล้ว
             มาตรา ๘ ในการประชุมของคณะกรรมการ ถ้าประธานกรรมการไม่มาประชุม หรือไม่อยู่ในที่ประชุม ให้รองประธานกรรมการเป็นประธานในที่ประชุม ในกรณีที่ประธานกรรมการและรองประธานกรรมการไม่มาประชุมหรือไม่อยู่ในที่ประชุม ให้กรรมการที่มาประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม
             การประชุมคณะกรรมการทุกคราวต้องมีกรรมการมาประชุมไม่ต่ำกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม
             การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด
             มาตรา ๙ ให้มีสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร มีหน้าที่ดังต่อไปนี้
             (๑) วิเคราะห์นโยบายการเกษตรและแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์เพื่อเสนอคณะกรรมการ
             (๒) ศึกษาและวิเคราะห์การวางแผนการผลิตทางการเกษตร แหล่งการเพาะปลูกและการเลี้ยงสัตว์ให้สอดคล้องกับสภาพดินฟ้าอากาศ แหล่งน้ำ ประเภทของเกษตรกรรม รายได้หลักของเกษตรกร และความต้องการของตลาดในประเทศและต่างประเทศ เสนอต่อคณะกรรมการเพื่อประกอบการพิจารณากำหนดเขตเกษตรเศรษฐกิจ
             (๓) ศึกษาและวิเคราะห์การจัดระบบการตลาด การขนส่ง และการพัฒนาตลาด สินค้าเกษตรกรรมให้มีประสิทธิภาพ รวมทั้งวิเคราะห์ราคาและความต้องการสินค้าเกษตรกรรม
             (๔) ศึกษาและวิเคราะห์แหล่งทรัพยากรทางเกษตร วิเคราะห์การใช้ทรัพยากร รวมทั้งศึกษาและวิเคราะห์เศรษฐกิจการผลิต การจัดระบบปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ให้มีประสิทธิภาพ
             (๕) เก็บรวบรวมข้อมูลสถิติการเกษตรทุกชนิด ทั้งในด้านผลผลิตของพืชและสัตว์ ภาวะเศรษฐกิจทางการเกษตร รายได้รายจ่ายของเกษตรกร ภาวะหนี้สินของเกษตรกร ภาวะตลาดของผลิตผลทางการเกษตรและข้อมูลอื่นๆ ทางเศรษฐกิจการเกษตรที่จำเป็นเพื่อใช้ในการวิเคราะห์นโยบายการเกษตรและแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ และจัดทำเอกสารสถิติที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจการเกษตรเผยแพร่และโฆษณาข้อมูลสถิติการเกษตร
             (๖) วิเคราะห์และประเมินผลการลงทุนในโครงการการเกษตร ตลอดจนติดตามและประเมินผลความสำเร็จและความก้าวหน้าของโครงการ และแผนปฏิบัติงานของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมทั้งเสนอแนะแนวทางในการแก้ไขปัญหาหรืออุปสรรคที่ต้องกระทำเป็นการเร่งด่วนต่อคณะกรรมการ
             (๗) วิเคราะห์การพัฒนาเศรษฐกิจในสาขาอื่น ๆ รวมทั้งภาวะเศรษฐกิจการเกษตรระหว่างประเทศที่จำเป็นในการวางแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์
             (๘) จัดทำทะเบียนเกี่ยวกับการประกอบกิจการในด้านการเกษตร โดยจัดประเภท ชนิด หรือกลุ่ม ของแต่ละสาขา
             (๙) ประสานงานในการกำหนดนโยบายการเกษตร และแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์กับหน่วยราชการต่าง ๆ และรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งประสานงานกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
             (๑๐) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการ หรือสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
             มาตรา ๑๐ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ คณะกรรมการมีอำนาจ
             (๑) เรียกให้หน่วยงานและรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอแผนงานและโครงการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ ตลอดจนรายละเอียดทางวิชาการและการเงินกับสถิติและรายการต่าง ๆ ที่จำเป็นแก่การศึกษาภาวะเศรษฐกิจการเกษตรของประเทศ รวมทั้งเสนอแผนงานและโครงการพัฒนาในด้านการเกษตรและสหกรณ์ที่ขอความช่วยเหลือจากต่างประเทศและรายการต่าง ๆ ที่จำเป็นแก่การศึกษาภาวะเศรษฐกิจการเกษตรของประเทศก่อนที่จะเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพิจารณา
             (๒) เรียกให้หน่วยงานและรัฐวิสาหกิจตาม (๑) เสนอข้อเท็จจริงที่จำเป็นเพื่อพิจารณาประเมินผลความสำเร็จ ความก้าวหน้า หรืออุปสรรคของโครงการและแผนงานต่างๆ
             (๓) จัดให้มีการขึ้นทะเบียนเกษตรกรเกี่ยวกับการประกอบกิจการในด้านการเกษตร
             มาตรา ๑๑ ให้สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการสถิติตามกฎหมายว่าด้วยการสถิติในเรื่องที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจการเกษตร และการพัฒนาการเกษตร
             มาตรา ๑๒ ให้เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร มีหน้าที่บังคับบัญชาควบคุมและดูแลโดยทั่วไปซึ่งราชการของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
             มาตรา ๑๓ คณะกรรมการหรือสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร อาจเชิญบุคคลหนึ่งบุคคลใดมาให้ข้อเท็จจริง คำอธิบาย ความเห็น หรือคำแนะนำได้
             มาตรา ๑๔ คณะกรรมการอาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาหรือปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่คณะกรรมการมอบหมายได้
             การประชุมคณะอนุกรรมการตามวรรคหนึ่ง ให้นำมาตรา ๘ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
             มาตรา ๑๕ ให้รัฐมนตรีมีอำนาจประกาศเขตเกษตรเศรษฐกิจ ตามมติของคณะกรรมการ
             ภายในเขตเกษตรเศรษฐกิจตามวรรคหนึ่ง รัฐมนตรีอาจกำหนดให้มีมาตรการเพื่อส่งเสริมการเกษตรและให้ความช่วยเหลือในด้านการพัฒนาการเกษตรซึ่งรวมถึงการให้ความช่วยเหลือในด้านการประกันราคาหรือพยุงราคาสินค้าเกษตรกรรม การรวมกันจัดตั้งสหกรณ์หรือสถาบันการเกษตรอื่น ๆ เพื่อยกระดับรายได้ของเกษตรกรให้สูงขึ้น
             มาตรา ๑๖ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

             ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
             ส. โหตระกิตย์
             รองนายกรัฐมนตรี

             หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้คือ เนื่องจากประชากรของประเทศส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทางการเกษตร และสินค้าขาออกทั้งหมดประมาณร้อยละ ๗๐ เป็นผลิตผลทางการเกษตร เศรษฐกิจของประเทศจึงขึ้นอยู่กับการเกษตรเป็นสำคัญ แต่เนื่องจากอัตราการเพิ่มของประชากรในประเทศ ยังอยู่ในระดับค่อนข้างสูงและทรัพยากรที่จะใช้ในการผลิตทางการเกษตรก็มีอยู่จำกัด จำเป็นจะต้องวางนโยบายและแผนการผลิตให้ถูกต้องไว้ล่วงหน้า เพื่อให้การผลิตเพียงพอกับความต้องการภายในประเทศ และเหลือเป็นสินค้าส่งออกทำรายได้เข้าประเทศ ในการนี้สมควรให้มีส่วนราชการทำหน้าที่ในด้านการรวบรวมข้อมูลการวิเคราะห์นโยบายและแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ ตลอดจนการประสานงานระหว่างหน่วยงานที่นำแผนแม่บทไปดำเนินการ และติดตามประเมินผลการปฏิบัติงานของหน่วยงานต่าง ๆ ให้ได้ผลตามแผนที่วางไว้หรือขจัดอุปสรรคในทางปฏิบัติเพื่อเสนอแนะแนวทางแก้ไขต่อไป จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้