พระบรมราชโองการ

พระราชบัญญัติ
ว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
พ.ศ. ๒๕๔๒

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๒
เป็นปีที่ ๕๔ ในรัชกาลปัจจุบัน

            พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
           โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
           จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภาดังต่อไปนี้
           มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าทีระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒"
           มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นหกสิบวันนับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
           มาตรา ๓ ในพระราชบัญญัตินี้
           "ศาล" หมายความว่า ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง ศาลทหาร หรือศาลอื่น
           "ศาลยุติธรรม" หมายความว่า ศาลทั้งหลายตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม หรือศาลที่มีกฎหมายจัดตั้งขึ้นและกำหนดให้อยู่ในสังกัดกระทรวงยุติธรรม หรือกำหนดให้เป็นศาลยุติธรรม
           "ศาลปกครอง" หมายความว่า ศาลปกครองตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครอง
           "ศาลทหาร" หมายความว่า ศาลทหารตามกฎหมายว่าด้วยธรรมนูญศาลทหาร
           "คณะกรรมการ" หมายความว่า คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
           "กรรมการ" หมายความว่า กรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
           มาตรา ๔ ให้มีคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลคณะหนึ่ง ประกอบด้วย ประธานศาลฎีกาเป็นประธานกรรมการ ประธานศาลปกครองสูงสุด หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร และผู้ทรงคุณวุฒิอื่นอีกสี่คนเป็นกรรมการ
           ในกรณีที่มีการจัดตั้งศาลอื่นขึ้น ให้ประธานศาลอื่นนั้นเป็นกรรมการโดยตำแหน่งตามวรรคหนึ่งด้วย
           คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลและอำนาจ

หน้าที่อื่นตามพระราชบัญญัตินี้
           มาตรา ๕ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิประกอบด้วยบุคคล ดังต่อไปนี้
           (๑) ผู้มีความรู้และมีประสบการณ์เกี่ยวกับการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลยุติธรรม ซึ่งได้รับการคัดเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา จำนวนหนึ่งคน
           (๒) ผู้มีความรู้และมีประสบการณ์เกี่ยวกับการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลปกครอง ซึ่งได้รับการคัดเลือกจากที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด จำนวนหนึ่งคน
           (๓) ผู้มีความรู้และมีประสบการณ์เกี่ยวกับการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหาร ซึ่งได้รับการคัดเลือกจากที่ประชุมใหญ่ตุลาการพระธรรมนูญในศาลทหารสูงสุด จำนวนหนึ่งคน
           (๔) ผู้มีความรู้และมีประสบการณ์ด้านกฎหมายที่มิใช่เป็นผู้พิพากษาหรือตุลาการประจำศาล ซึ่งได้รับการคัดเลือกจากกรรมการโดยตำแหน่งและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตาม (๑) (๒) และ (๓) จำนวนหนึ่งคน
           มาตรา ๖ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้
           (๑) มีสัญชาติไทยโดยการเกิด
           (๒) มีอายุไม่ต่ำกว่าสี่สิบปีบริบูรณ์
           (๓) ไม่เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่นหรือไม่เป็นกรรมการหรือที่ปรึกษาของหน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ
           (๔) ไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น กรรมการหรือผู้ดำรงตำแหน่งที่รับผิดชอบในการบริหารพรรคการเมือง สมาชิกพรรคการเมือง หรือเจ้าหน้าที่ในพรรคการเมือง
           (๕) ไม่เป็นกรรมการ ผู้จัดการ ที่ปรึกษา ลูกจ้าง หรือดำรงตำแหน่งอื่นใด ที่มีลักษณะคล้ายกันในบริษัท ห้างหุ้นส่วน หรือธุรกิจเอกชนในรูปแบบอื่น
           มาตรา ๗ ในการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ให้ประธานกรรมการแจ้งไปยังประธานของศาลแต่ละศาล และหัวหน้าสำนักตุลาการทหารสำหรับศาลทหาร เพื่อดำเนินการคัดเลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา ๕ (๑) (๒) หรือ (๓) และเสนอรายชื่อต่อประธานกรรมการ
           ให้กรรมการโดยตำแหน่งและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา ๕ (๑) (๒) และ (๓) ประชุมร่วมกันคัดเลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา ๕ (๔)
           วิธีการคัดเลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา ๕ (๑) (๒) และ (๓) ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ที่ประชุมใหญ่ของศาลแต่ละศาล แล้วแต่กรณี เป็นผู้กำหนด สำหรับกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา ๕ (๔) ให้รับสมัครจากผู้ที่มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๖ วิธีการรับสมัครและการคัดเลือกให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ที่ประชุมร่วมกันตามวรรคสองกำหนด
           ให้ประธานกรรมการประกาศรายชื่อกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในราชกิจจานุเบกษา
           มาตรา ๘ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสี่ปีนับแต่วันประกาศรายชื่อกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในราชกิจจานุเบกษา
           ถ้ากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิว่างลง ให้ดำเนินการคัดเลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิแทนตำแหน่งที่ว่างโดยเร็ว ตามหลักเกณฑ์ในมาตรา ๗ และให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้รับการคัดเลือกใหม่มีวาระอยู่ในตำแหน่งตามวรรคหนึ่ง
           ในระหว่างที่ยังมิได้คัดเลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามวรรคสองและยังมีกรรมการเหลืออยู่เกินกึ่งหนึ่ง ให้กรรมการที่เหลืออยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ แต่ต้องไม่เกินสามสิบวัน
           มาตรา ๙ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งเมื่อ
           (๑) ตาย
           (๒) ลาออก
           (๓) เป็นบุคคลล้มละลาย
           (๔) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
           (๕) ถูกจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก
           (๖) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๖
           มาตรา ๑๐ ในกรณีที่มีการฟ้องคดีต่อศาลใด ถ้าคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องเห็นว่าคดีดังกล่าวอยู่ในเขตอำนาจของอีกศาลหนึ่ง ให้ยื่นคำร้องต่อศาลที่รับฟ้องก่อนวันสืบพยานสำหรับศาลยุติธรรมหรือศาลทหารหรือก่อนวันนั่งพิจารณาคดีครั้งแรกสำหรับศาลปกครองหรือศาลอื่น ในการนี้ให้ศาลที่รับฟ้องรอการพิจารณาไว้ชั่วคราว และให้จัดทำความเห็นส่งไปให้ศาลที่คู่ความร้องว่าคดีนั้นอยู่ในเขตอำนาจโดยเร็วในกรณีเช่นว่านี้ให้ศาลที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ดังต่อไปนี้
           (๑) ถ้าศาลที่ส่งความเห็นมีความเห็นว่าคดีนั้นอยู่ในเขตอำนาจของศาลตน และศาลที่รับความเห็นมีความเห็นพ้องกับศาลดังกล่าว ให้แจ้งความเห็นไปยังศาลที่ส่งความเห็นเพื่อมีคำสั่งให้ดำเนินกระบวนพิจารณาคดีในศาลเดิมนั้นต่อไป
           (๒) ถ้าศาลที่ส่งความเห็นมีความเห็นว่าคดีนั้นอยู่ในเขตอำนาจของอีกศาลหนึ่งที่คู่ความอ้างและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นพ้องกับศาลดังกล่าว ให้แจ้งความเห็นไปยังศาลที่ส่งความเห็นเพื่อมีคำสั่งให้โอนคดีไปยังศาลนั้น หรือสั่งจำหน่ายคดีเพื่อให้คู่ความไปฟ้องศาลที่มีเขตอำนาจ ทั้งนี้ ตามที่ศาลเห็นสมควรโดยคำนึ่งถึงประโยชน์แห่งความยุติธรรม
           (๓) ถ้าศาลาที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น ให้ศาลที่ส่งความเห็นส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดให้เสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่อง แต่ถ้ามีเหตุจำเป็นให้คณะกรรมการลงมติให้ขยายเวลาออกไปได้ไม่เกินสามสิบวันโดยให้บันทึกเหตุแห่งความจำเป็นนั้นไว้ด้วย
           คำสั่งของศาลตามวรรคหนึ่ง (๑) และ (๒) และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการที่เกี่ยวกับเขตอำนาจศาลตามวรรคหนึ่ง (๓) ให้เป็นที่สุด และมิให้ศาลที่อยู่ในลำดับสูงขึ้นไปของศาลตามวรรคหนึ่งยกเรื่องเขตอำนาจศาลขึ้นพิจารณาอีก
           ความในมาตรานี้ให้ใช้บังคับกับกรณีที่ศาลเห็นเอง ก่อนมีคำพิพากษาด้วยโดยอนุโลม
           มาตรา ๑๑ ในกรณีที่คณะกรรมการได้วินิจฉัยชี้ขาดว่าคดีอยู่ในเขตอำนาจของศาลที่รับฟ้องให้ศาลนั้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป แต่ถ้าวินิจฉัยชี้ขาดว่าคดีอยู่ในเขตอำนาจของอีกศาลหนึ่งให้ศาลที่รับฟ้องสั่งโอนคดีหรือสั่งจำหน่ายคดีเพื่อให้คู่ความไปฟ้องศาลที่มีเขตอำนาจ ทั้งนี้ ตามที่ศาลเห็นสมควรโดยคำนึงถึงประโยชน์แห่งความยุติธรรม
           มาตรา ๑๒ ในกรณีที่มีการนำคดีซึ่งมีข้อเท็จจริงเรื่องเดียวกันฟ้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจแตกต่างกันตั้งแต่สองศาลขึ้นไป ถ้าคู่ความหรือศาลเห็นว่าคดีนั้นไม่อยู่ในเขตอำนาจของศาลใดศาลหนึ่งที่รับฟ้อง ให้นำความในมาตรา ๑๐ และมาตรา ๑๑ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
           ในกรณีที่มีการฟ้องคดีต่อศาลใด แต่ศาลนั้นไม่รับฟ้องเพราะเหตุว่าคดีดังกล่าวอยู่ในเขตอำนาจของอีกศาลหนึ่ง เมื่อมีการฟ้องคดีต่ออีกศาลหนึ่งแล้วหากศาลดังกล่าวเห็นว่าคดีนั้นไม่อยู่ในเขตอำนาจเช่นกัน ให้ศาลนั้นส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการพิจารณาวินิจฉัย โดยให้นำความในมาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) และมาตรา ๑๑ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
           มาตรา ๑๓ ในการโอนคดีตามคำสั่งศาลตามพระราชบัญญัตินี้ให้ถือว่าบรรดากระบวนพิจารณาที่ได้ดำเนินการไปแล้วในศาลที่มีคำสั่งโอนคดีเป็นกระบวนพิจารณาของศาลที่รับโอนคดีด้วย เว้นแต่ศาลที่รับโอนคดีจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่นเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม
           เมื่อมีเหตุต้องฟ้องคดีใดใหม่ต่อศาลที่มีเขตอำนาจ อันเนื่องจากมีการดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ ถ้าอายุความหรือกำหนดเวลาในการฟ้องคดีครบกำหนดไปแล้วในระหว่างการพิจารณาของศาลหรือของคณะกรรมการ แล้วแต่กรณี หรือจะครบกำหนดก่อนหกสิบวันนับแต่วันที่มีคำสั่งของศาลหรือของคณะกรรมการ แล้วแต่กรณี ให้ขยายอายุความหรือกำหนดเวลาการฟ้องคดีออกไปจนถึงหกสิบวันนับแต่วันที่มีคำสั่งของศาลหรือของคณะกรรมการ แล้วแต่กรณี
           มาตรา ๑๔ ถ้ามีคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ถึงที่สุดระหว่างศาลขัดแย้งกันในคดีที่มีข้อเท็จจริงเป็นเรื่องเดียวกัน จนเป็นเหตุให้คู่ความไม่ได้รับการเยียวยาความเสียหายหรือไม่ได้รับความเป็นธรรมหรือมีความขัดแย้งในเรื่องฐานะหรือความสามารถของบุคคล คู่ความ หรือบุคคลซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงจากคำพิพากษาหรือคำสั่งดังกล่าวอาจยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการเพื่อขอให้วินิจฉัยเกี่ยวกับการปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลดังกล่าวได้ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่คำพิพากษาหรือคำสั่งที่ออกภายหลังถึงที่สุด
           ให้คณะกรรมการพิจารณาคำร้องตามวรรคหนึ่ง โดยคำนึงถึงประโยชน์แห่งความยุติธรรมและความเป็นไปได้ในการปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล แล้วให้กำหนดแนวทางการปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลดังกล่าว คำวินิจฉัยของคณะกรรมการให้เป็นที่สุด
           ให้นำกำหนดเวลาตามมาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) มาใช้บังคับกับกรณีนี้โดยอนุโลม
           มาตรา ๑๕ ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๑๐ ถึงมาตรา ๑๔ ไปใช้กับวิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษาการยื่นคำร้องต่อศาลก่อนการฟ้องคดีตามที่กฎหมายบัญญัติ การสืบพยานหลักฐานไว้ก่อนฟ้องคดีการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล และการปฏิบัติการตามอำนาจหน้าที่ประการอื่นของศาลโดยอนุโลม
           มาตรา ๑๖ การประชุมของคณะกรรมการต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนกรรมการทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม
           ให้ประธานกรรมการเป็นประธานในที่ประชุม ในกรณีที่ประธานกรรมการไม่อยู่หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้กรรมการซึ่งมาประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม
           การวินิจฉัยชี้ขาดในที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด
           มาตรา ๑๗ คำวินิจฉัยของคณะกรรมการให้ทำเป็นหนังสือ ระบุเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยและลงลายมือชื่อกรรมการทุกคนที่วินิจฉัย และบุคคลทั่วไปอาจขอคัดสำเนาได้ตามวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด
           ให้คณะกรรมการมีอำนาจออกข้อบังคับเกี่ยวกับวิธีการเสนอเรื่องต่อคณะกรรมการ การพิจารณาและวินิจฉัยของคณะกรรมการ และการอื่นที่จำเป็นเท่าที่ไม่ขัดต่อพระราชบัญญัตินี้ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
           มาตรา ๑๘ ให้เลขานุการศาลฎีกาเป็นเลขานุการคณะกรรมการ และให้มีหน้าที่รับผิดชอบดำเนินการตามที่คณะกรรมการกำหนด
           มาตรา ๑๙ ให้คณะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการได้รับประโยชน์ตอบแทนตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา
           มาตรา ๒๐ เมื่อศาลปกครองได้เปิดทำการแล้ว ให้ดำเนินการคัดเลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา ๕ (๒) ภายในหกสิบวันนับแต่วันเปิดทำการศาลปกครอง
           ภายในสี่ปีนับแต่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับให้ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดเป็นผู้มีสิทธิที่จะได้รับการคัดเลือกเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา ๕ (๒) ได้
           มาตรา ๒๑ ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
ชวน หลีกภัย
นายกรัฐมนตรี

(ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๖ ตอนที่ ๑๐๔ ก หน้า ๕ วันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๔๒)

             หมายเหตุ
             เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้คือ โดยที่มาตรา ๒๔๘ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณา จักรไทยบัญญัติให้มีคณะกรรมการเพื่อทำหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลยุติ ธรรม ศาลปกครอง ศาลทหาร หรือศาลอื่น โดยให้ประกอบด้วยประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานศาลอื่นและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามที่กฎหมายบัญญัติและให้หลักเกณฑ์การเสนอปัญหาดังกล่าว เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้